Likit’s Personal Weblog

Published by cndf.

พระมหาปุริสลักษณะ 32 ประการ

Posted by cndf บน พฤศจิกายน 23, 2007

รวบรวมลักษณะของมหาปุริสลักษณะ 32 ประการที่ผู้ใดมีจะสามารถทำนายคติได้สองอย่างคือ จะได้เป็นพระมหาจักรพรรดิ หรือจะได้บรรลุเป็นศาสดาเอกของโลก ลักษณะทั้ง 32 ประการนี้เกิดจากการรักษาศีลและสร้างสมบารมีมาช้านานทั้งสิ้น 

๑. พระบาทประดิษฐานเป็นอันดี สุปะติฎฐิตะปาโท เมื่อทรงเหยียบพระบาท  ทรงจรดพื้นด้วยฝ่าพระบาททุกส่วนเสมอกัน  เมื่อทรงยกพระบาทขึ้นก็เสมอกัน

๒. ใต้พระบาททั้งสองมีลายธรรมจักร มงคล ๑๐๘ ประการ  เหฎฐา ปาทะตะเลสุ  จักกานิ

๓. ส้นพระบาทยาว อายะตะปัณหิ พระบาทแบ่งออกเป็นสี่ส่วน  ปลายพระบาทสองส่วน ลำพระชงฆ์ (แข้ง) ตั้งในส่วนที่สาม  เหลือส้นพระบาทอีกหนึ่งส่วน และส้นพระบาทนั้นสีแดงงาม

๔. นิ้วพระหัตถ์ นิ้วพระบาทยาวเรียว กลมงาม ทีฆังคุลี

๕. พระวรกายตั้งตรงดังกายท้าวมหาพรหม พรหมุชุ คัตโต  ไม่น้อมไปข้างหน้า หรือหงายไปข้างหลัง

๖. พระมังสะ (เนื้อ) อูมในที่ ๗ แห่ง  สัตตุสสะโท ได้แก่  หลังพระหัตถ์ทั้งสอง หลังพระบาททั้งสอง พระอังสา (บ่า) ทั้งสอง  ลำพระศอ (คอ) มิได้เห็นเส้นปรากฏออกมาภายนอก

๗. ฝ่าพระหัตถ์ ฝ่าพระบาทอ่อนนุ่ม มุทุตะละนะหัตถะปาโท

๘. ฝ่าพระหัตถ์ ฝ่าพระบาทมีลายดังตาข่าย ชาละหัตถะปาโท  นิ้วพระหัตถ์ทั้งสี่ เว้น พระอังคุฎฐะ (นิ้วหัวแม่มือ)  นิ้วพระบาททั้งห้าเสมอกัน ชิดสนิทดี

(บุพพชาติทรงอนุเคราะห์คนด้วยสังคหวัตถุสี่ คือ ทาน ปิยะวาจา อัตถจริยา สมานัตตา นิ้วทั้งสี่จึงยาวเท่ากัน)

๙. หลังพระบาทนูนดุจสังข์คว่ำ  อุสสังขะปาโท และข้อพระบาทกลอกกลับผันแปรอย่างคล่องขณะย่างพระบาท

๑๐. พระโลมา (ขน) มีสีดำสนิท ขดเป็นทักษิณาวัฎ (เวียนขวา) ๓ รอบและมีปลายช้อนขึ้น

๑๑. พระชงฆ์ (แข้ง) เรียวดังแข้งเนื้อทราย กลมกลึงงาม เอณิชังโฆ

๑๒. พระฉวีวรรณ (ผิว) ละเอียด สุขุมมัจฉวี  ธุลีละอองมิติดต้องพระวรกายได้ มลทินใดมาสัมผัสก็เลื่อนหลุดไปดุจน้ำกลิ้งตกจากใบบัว

๑๓. พระฉวีวรรณ (ผิว) เหลืองงามดังทองคำ สุวัณณะวัณโณ

๑๔. พระคุยหะเร้นอยู่ในฝัก โกโสหิตะวัตถะคุโยหะ  องค์กำเนิดเพศชายหดเร้นเข้าข้างใน

๑๕. พระวรกายสง่างาม สมบูรณ์ สมส่วน ดังปริมณฑลแห่งต้นนิโครธ  (ต้นไทร)  นิโครธปริมัณฑโล ความสูงของพระวรกายเท่ากับวาของพระองค์

๑๖. พระกรยาวจนใช้พระหัตถ์ลูบพระชานู (เข่า) โดยไม่ต้องน้อมพระวรกาย  ปาณิตะเลหิ ชันนุกานิ ปริมะสะติ

๑๗. พระวรกายส่วนหน้าล่ำพีบริบูรณ์ สง่างามดุจราชสีห์  สีหะปุพพะทะธะกาโย

๑๘. พระปฤษฎางค์ (หลัง) เต็ม ปิตตันตะรังโส ตั้งแต่บั้นพระองค์ (เอว)  ขึ้นไปถึงต้นพระศอ (คอ) พื้นพระมังสะ (เนื้อ)  ปิดพระปฤษฎางค์เป็นอันดี มิได้เห็นข้อพระอัฐิท่ามกลางพระขนอง  (ข้อกระดูกสันหลัง) ปรากฏออกมาภายนอก

๑๙. พระศอกลมเสมอกัน สะมะวัฎฎักขันโธ

๒๐. มีเส้นประสาทสำหรับนำรสอาหารดีเลิศ  ระสัคคะสัคคี  มีเส้นประสาทปลายข้างบนประชุมอยู่ที่พระศอสำหรับนำรสอาหารแผ่ซ่านสม่ำเสมอไปทั่วพระวรกาย

๒๑. พระเนตรดำสนิท อะภินีละเนตโต มีการเห็นแจ่มใส

๒๒. ดวงพระเนตรสดใสดังตาโค  โคปะขุโม (บุพพชาติทรงทอดพระเนตรสัตว์ด้วยความเมตตา เอ็นดู)

๒๓. พระเศียรกลมงาม พระพักตร์มีอุณหิสคือลักษณะเหมือนมีกรอบหน้า  อุณหีสะสีโส

๒๔. โลมา (ขน) มีขุมละเส้น เอเกกะโลโม

๒๕. มีพระอุณาโลมระหว่างพระโขนง (คิ้ว) สีขาวอ่อนเหมือนปุยฝ้าย  อุณณาโลมา ภมุกันตะเรชาตา

๒๖. พระทนต์มี ๔๐ ซี่ จัตตาฬีสะทันโต เบื้องบน ๒๐ ซี่ เบื้องล่าง ๒๐  ซี่เสมอกัน

๒๗. พระทนต์มิได้ห่าง สนิทกันดี อะวิระฬะทันโต

๒๘. พระชิวหาอ่อน กว้าง ยาวกว่าชนทั้งปวง ปหูตะชิโวห

๒๙. พระสุรเสียงไพเราะดุจเสียงท้าวมหาพรหม  กระแสเสียงดุจเสียงนกการเวก  พรหมัสสะโร กะระวิกะภาณี

(บุพพชาติทรงเว้นขาดจากการพูดคำหยาบ ส่อเสียด คำไม่จริง)

๓๐. พระหนุ (คาง) ดุจคางราชสีห์ สีหะหะนุ

๓๑. พระทนต์เรียงเรียบเสมอกัน สะมะทันโต

๓๒. พระทาฐะ (เขี้ยว) ทั้ง ๔ ซี่ขาวบริสุทธิ์ รุ่งเรืองด้วยรัศมี  สุสุกกะทาโฐ

Sorry, the comment form is closed at this time.